วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทุกะ คือ หมวด ๒

 ธรรมมีอุปการมาก ๒ อย่าง

                                                            ๑    สติ   คือ ความระรึกได้
                                                            ๒     สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว
หลักธรรม  2 ประการนี้  คือ 
อธิบายตามศัพท์
      . สติ แปลว่า ความระลึก หรือความระลึกได้ สติมีความระลึก
เป็นลักษณะ มีความไม่ลืมเลือนเป็นกิจ มีการควบคุมเป็นเครื่องปรากฏ ( เป็นต้นว่า เราจะกำหนดสติโดยการดูลมหายใจเข้า-ออก ระหว่างที่ปลายจมูก กับสะดือ สองจุดนี้ เมื่อลมเข้าเรา ก็ ทำความรู้สึก ดูที่ปลายจมูก เมื่อลมถึงสะดือ เราก็ ทำความรู้สึก ดูที่สะดือ แล้วก็ปล่อยลมออก อย่างนี้เรียกว่า ฝึกสติ)
      หมายความว่า ลักษณะเครื่องกำหนดของสตินั้น ก็คือ ความระลึก หรือความนึกคิด ใน ๓ กาล ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้กล่าวคือ ระลึกถึงการกระทำ ที่เคยทำมาแล้ว คำที่เคยพูดไว้แล้ว รูปที่เคยได้เห็นมาแล้ว เสียงที่เคยได้ยิน ได้ฟังมาแล้ว กลิ่นที่เคยได้สูดดมแล้ว รสที่เคยลิ้มลองแล้ว โผฏฐัพพะที่เคยได้สัมผัสแล้ว ถูกต้องธรรมะ คือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เคยเล่าเรียนเขียนอ่านในกาลก่อน ที่ผ่านวันเวลามาแล้ว ก็ยังจำได้ นี้ เรียกว่า ระลึกอดีตกาลได้  ระลึกถึงการที่กำลังทำอยู่ หรือกำลังจะทำ คำที่กำลังพูดอยู่ หรือกำลังจะพูด เรื่องที่กำลังคิดอยู่ ได้แก่การตั้งสติกำหนดระลึกนึกคิด ในขณะที่กำลังทำอยู่นี้ ในขณะนี้ ตอนนี้ เวลานี้ได้ เรียกว่า ระลึกปัจจุบันกาลได้  ระลึกถึงเรื่อง อันจะพึงเกิดมีในกาลข้างหน้า เช่น ความตาย อันจะมีแก่ตน และบุคคลอื่น นี้เรียกว่า ระลึกเรื่องอนาคตกาลได้  กิจหรือหน้าที่ของสตินั้น ก็คือการ ไม่ลืมเรื่องอดีต ระลึกได้ทุกครั้งที่ต้องการ, ไม่เลื่อนลอย ไม่เผลอตัวในเรื่องปัจจุบัน, ไม่หวาดหวั่นฟุ้งเฟ้อในเรื่องอนาคต.
      เครื่องปรากฏของสตินั้น ก็คือ มีการป้องกันรักษา ซึ่งการทำ การพูด การคิด ทั้ง ๓ กาล ไว้มิให้หันเห ไปในทางผิดตามกิเลส ระวังให้ตั้งอยู่เฉพาะ ในทางที่ถูกเท่านั้น ประดุจผู้ขับรถ ที่ไม่ประมาทคอยบังคับพวงมาลัยรถ ให้วิ่งไปโดยปลอดภัย.
      ซึ่งความระลึกได้ ก่อนที่จะทำ จะพูด หรือคิด คืออาการของจิต ที่นึกขึ้นได้ว่าจะทำอย่างไร จะพูดอย่างไร  จึงจะถูกต้อง มีหน้าที่กระตุ้นเตือนคนเราให้ทำ ให้พูด หรือคิดในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่หลงลืมตัว โดยใช้ดุลพินิจพิจารณา อย่างรอบคอบ ก่อนแล้วจึงปฏิบัติ หรือแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมา
กล่าวคือ ความไม่ประมาท ปล่อยจิตนึกคิดไปตามอารมณ์ที่ปรารถนา
     สติจึงเป็นที่ธรรมควบคุมเหนี่ยวรั้งจิตใจ ให้คิดดี ทำดี พูดดี เพราะธรรมชาติของจิต มีการนึกคิดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าขาดสติกำกับแล้ว ก็จะเป็นความคิดที่ฟุ้งซ่าน ไปตามอารมณ์ต่างๆ อย่างไร้ทิศทาง แต่ถ้ามีสติกำกับอยู่ ก็จะทำให้ไม่ประมาท หรือพลั้งเผลอคิดชั่ว พูดชั่ว หรือทำชั่ว เพราะสติจะทำหน้าที่คอยควบคุม รักษาสภาพจิตใจ ให้อยู่ในภาวะที่ต้องการ โดยการตรวจตราความคิดเลือกรับแต่สิ่งที่ดีงาม กีดกันสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งตรงกันข้าม ตรึงกระแสความคิดให้เข้าที่ ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย

    ในหน้าที่การงาน คนที่มีสติ สามารถทำงานได้ผลดียิ่ง มีความผิดพลาดน้อย หรืออาจจะไม่มีข้อผิดพลาดเลย หากขาดสติแล้ว งานต้องผิดพลาดอยู่ร่ำไป ทำให้งานล่าช้า เสร็จไม่ทันตามกำหนด ไม่สามารถพัฒนาก้าวหน้าได้

      ในการทำความดี ผู้มีสติสามารถดำเนินชีวิต อยู่ด้วยความไม่ประมาท เว้นจากการทำความชั่วทุกอย่าง กระทำแต่ความดี และทำจิตให้ผ่องแผ้ว จากกิเลสทั้งปวง สตินี้ เป็นหลักธรรม ที่มีอุปการะมาก พัฒนาจิต พิจารณารู้เท่าทัน สภาพที่แท้จริง ทำให้การดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้  อย่างมีความสุข เมื่อเจริญสติ ให้มากยิ่งขึ้น สามารถจะบรรลุมรรค ผล และนิพพานได้ในที่สุด

     . สัมปชัญญะ แปลว่าความรู้ตัว สัมปชัญญะมีความไม่ฟั่นเฟือน เป็นลักษณะ มีความไตร่ตรองเป็นกิจ มีความเลือกเฟ้นเป็นเครื่องปรากฏ  หมายความว่า ลักษณะของสัมปชัญญะนี้ ได้แก่ความรู้ทั่ว รู้ชัดโดยถูกต้อง ไม่ใช่หลง ๆ ลืม ๆ หลับ ๆ ตื่น ๆ ฟั่นเฟือนในขณะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นต้น รู้สึกตัวดีอยู่ ตื่นตัวดีอยู่ว่ากำลังยืน เดินเป็นต้น. กิจหรือหน้าที่ของสัมปชัญญะนั้น ได้แก่การพิจารณาถึงคุณโทษเป็นต้น ชิงขึ้นหน้าคอยกุมแจอยู่ทุกอิริยาบถ. เครื่องปรากฏของสัมปชัญญะนี้ ได้แก่การเลือกเฟ้น ไตร่ตรองประจำอยู่ทุกอิริยาบถในปัจจุบัน ไม่ส่งใจไปที่อื่น.
       หลักธรรมที่ควบคุม ไม่ให้บุคคลทำผิดพลาด ควบคุมพฤติกรรม ของบุคคลให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ควบคุมอารมณ์ไม่ให้วู่วาม รู้จักคิด ไม่ปล่อยความนึกคิดไปตามความรู้สึก ที่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ คอยเหนี่ยวรั้งใจ ให้ทำ พูด หรือคิดในสิ่งที่ดี เหมือนบิดามารดาคอยห้ามบุตรธิดา ไม่ให้ทำความชั่ว แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก เกื้อกูลอุดหนุน ในการทำความดีทุกอย่าง ให้มั่นคงดียิ่งขึ้น
    ความรู้ตัวในขณะที่กำลังทำ กำลังพูด หรือกำลังคิดอยู่ เป็นอาการของจิตที่รู้จักแยกแยะสิ่งที่ตนกำลังทำ พูด คิดอยู่นั้นว่าเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ เหมาะกับตนหรือไม่ เป็นความสุขหรือทุกข์ และเป็นความดี หรือชั่ว หรือไม่ อย่างไร ความรู้ชัด ความรู้ตัว เป็นลักษณะ แห่งความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลานี้ เรียกว่า สัมปชัญญะ

     สัมปชัญญะเป็นธรรมที่ปฏิบัติคู่กับสติ แยกกันไม่ออก กล่าวคือสติเป็นเครื่องระลึกควบคุมยับยั้งจิตมิให้คิด พูด หรือทำชั่ว ส่วนสัมปชัญญะจะทำหน้าที่กำหนดรู้ในเวลาคิด พูด หรือทำอยู่ ดังนั้น จึงเรียกว่า สติสัมปชัญญะ
     สตินี้ จะระลึกได้ทั้งในเรื่องอดีต อนาคต และปัจจุบัน ต้องใช้ในเวลาก่อนคิด ก่อนพูด และก่อนทำ...สัมปชัญญะ รู้ตัวในปัจจุบัน ต้องใช้ในขณะที่กำลังคิด พูด และทำอยู่

    สติและสัมปชัญญะนี้จัดเป็นกุศลธรรมที่คู่กันเสมอ จะแยกจากกันมิได้ เมื่อมีสติต้องมีสัมปชัญญะ สติเปรียบเหมือนดวงไฟ ส่วนสัมปชัญญะเปรียบเหมือนแสงสว่างของดวงไฟ

          การทำหน้าที่ คนเราจำต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกขณะ คือควรเจริญให้เกิดมีขึ้นในตนตลอดเวลา ทั้งในขณะจะทำ พูด หรือคิด เพราะสติสัมปชัญญะจะคอยคุมรักษาจิตให้ตั้งมั่นแน่วแน่ในทางที่ดีมีประโยชน์ ไม่ให้ความชั่วร้ายเข้าครอบงำจิตได้ ดังนั้น สติสัมปชัญญะจึงเป็นคุณธรรมที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต สติจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง

        สติสัมปชัญญะมีอุปการะมากแก่คนเรา โดยเป็นธรรมควบคุมเส้นทางดำเนินชีวิตไม่ให้พลั้งเผลอทำในสิ่งที่ไม่สมควร ท่านเปรียบเหมือนหางเสือ ที่คอยกำหนดทิศทางไม่ให้เรือแล่นไปเกยตื้น เป็นเครื่องปลุกเร้าให้บุคคลมีเหตุผล รู้จักไตร่ตรองด้วยปัญญา และสนับสนุนธรรมคือการรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล

         พฤติกรรมของผู้มีสติสัมปชัญญะ จะแสดงออกมาในลักษณะที่พิจารณาด้วยปัญญาแล้ว บริโภคอาหาร รู้จักประมาณ รู้จักคุณโทษของอาหารที่จะบริโภค ไม่เผลอสติในการทำงาน มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการทำกิจ เป็นต้น

        ผู้มีสติสัมปชัญญะย่อมมีความสำนึกรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ว่าตัวเองเป็นใคร มีหน้าที่อย่างไร เมื่อปฏิบัติหน้าที่อยู่ รู้ตัวอยู่เสมอว่าตัวเองกำลังทำอะไร ดีหรือชั่ว เป็นคุณหรือโทษ เท่ากับว่าควบคุมตัวเองไว้ได้ตลอดเวลา

          ด้วยความสำคัญดังกล่าวมานี้ ท่านจึงจัดสติสัมปชัญญะว่า เป็นธรรมมีอุปการะมาก 
เพราะเป็นเครื่องนำมา ซึ่งประโยชน์เกื้อกูล ในกิจการทุกอย่าง เหมือนความไม่ประมาท เป็นอุปการะในการบำเพ็ญศีล เป็นอุปการะธรรมอุดหนุน ให้สำเร็จกิจในทางดีก็ได้ ทางชั่วก็ได้ แต่ในที่นี้หมายเอาเฉพาะในทางดี.

      ป็นคุณธรรม  ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ของคนเรา และเป็นธรรมมีอุปการะ ให้กุศลธรรมอื่นๆ เกิดขึ้นดำรงมั่นคงอยู่ในจิตได้
     
      สติ และ สัมปชัญญะ ทั้งสองนี้ จึงชื่อว่า มีอุปการะมาก เพราะว่า ธรรม ๒ ประการนี้ มีอยู่แก่ผู้ใด ผู้นั้นกระทำกิจใด ๆ จะบำเพ็ญศีล เจริญสมาธิ ปัญญาก็ตามจะเล่าเรียนเขียนอ่านก็ตาม ประกอบการงานอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม โดยที่สุด แม้จะลุกจะนั่งจะยืนจะเดินโดยมีสติสัมปชัญญะเสมอ กิจนั้น ๆ ย่อมสำเร็จด้วยดี ไม่ผิดพลาด ปราศจากภยันตรายทุกประการ ในที่ทุกสถาน และในกาลทุกเมื่อ เพราะฉะนั้น ธรรม ๒ ประการนี้ จึงชื่อว่า มีอุปการะมาก ดังนี้แล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น