วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทุกะ คือ หมวด ๒



                                                    ธรรมคุ้มครองโลก ๒ อย่าง

                                              หิริ แปลว่า ความละอายแก่ใจ

                                            โอตตัปปะ แปลว่า ความเกรงกลัว

อธิบายตามศัพท์

๑. หิริ แปลว่าความละอายแก่ใจ. ได้แก่ความละอายใจในการ
ประพฤติชั่ว.ความละอายแก่ใจ ในขณะกำลังจะทำชั่ว ทั้งทางกาย วาจา ใจ รู้สึกขยะแขยงใจ ไม่กล้าทำความชั่ว มีความรังเกียจบาป มีกายทุจริต เป็นต้น มีความเคารพยำเกรง เป็นลักษณะ อธิบายว่า บางคนเกิดความละอาย อันมีความเคารพเป็นลักษณะโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ เคารพชาติตระกูลเป็นสำคัญ เคารพครูอาจารย์เป็นสำคัญ เคารพทรัพย์มรดกเป็นสำคัญ เคารพคนประพฤติดีเป็นสำคัญ แล้วไม่กระทำความชั่ว. และหิรินี้ มีเหตุภายในเป็นสมุฏฐาน อธิบายว่า บางคนคำนึงถึงชาติ วัย กำลังความรู้ของตนว่าเป็นอย่างนี้ ๆ แล้ว ปลงใจว่าไม่ควรทำบาป แล้วก็ไม่ทำนี้ชื่อว่า เกิดความละอายเพราะเหตุภายใน.
หิริ มีการปรารภตนเป็นใหญ่ อธิบายว่า บางคนทำตนให้เป็นใหญ่ คำนึงว่าการทำบาปไม่ควรแก่เราผู้มีภาวะอย่างนี้ ๆ แล้วไม่ยอมทำบาป. หิรินี้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยอาการที่กระดากอายนั่นเอง คือถ้าหมดยางอายเสียแล้วก็เป็นอันว่าไม่มีหิริ.

ท่านกล่าวอุปมาไว้ว่า คนรักสวยรักงาม เกลียดของสกปรก รู้อยู่ ย่อมละอาย ไม่ย่อมแตะต้องก้อนเหล็กแม้เย็นแต่เปื้อนคูถฉันใด คนมีหิริก็ไม่ยอมแตะต้องบาปอันเปรียบด้วยคูถฉันนั้น.

๒. โอตตัปปะ แปล ว่า ความเกรงกลัว ได้แก่ความหวาดกลัวผลชั่ว ไม่กล้าทำเหตุชั่ว. ความเกรงกลัวต่อบาปทุจริต คิดเห็นภัยที่เกิดจากการทำความชั่ว ในอภิธัมมัตถวิภาวินี ว่า โอตตัปปะนั้น มีความสะดุ้ง ต่อบาป เป็นลักษณะ ในอิติวุตตกวัณณนา ว่า โอตตัปปะ มีความเป็นผู้กลัวโทษ และเห็นแจ้งซึ่งภัย เป็นลักษณะ
อธิบายว่า บางคนเกิดความสะดุ้ง อันมีความกลัวโทษ เห็นภัยเป็นลักษณะโดยเหตุ ๔ อย่างคือ กลัวตนเองติเตียนตนเองได้ กลัวผู้อื่นติเตียน กลัวอาชญา กลัวทุคติ แล้วไม่ทำความชั่ว. และโอตตัปปะ มีเหตุภายนอกเป็นสมุฏ-ฐาน.

อธิบายว่า บางคนพิจารณาเห็นว่า ถ้าเราทำชั่ว. ก็จักถูกติเตียนในสังคม วิญญูชนจักตำหนิรังเกียจเรา เหมือนชาวเมืองเกลียดของโสโครกเราถูกผู้มีศีลทอดทิ้งแล้ว จักทำอย่างไร ดังนี้แล้วไม่ทำความชั่ว เพราะความกลัวอันเกิดขึ้นจากเหตุภายนอก.

อนึ่ง โอตตัปปะนี้มีการปรารภโลกเป็นใหญ่ อธิบายว่า บางคนทำโลกให้เป็นใหญ่ คือปรารภว่าโลกนี้ กว้างใหญ่ไพศาล พวกมีฤทธิ์ ตาทิพย์ หูทิพย์ และรู้จิตคนอื่นมีอยู่ เขาคงรู้เห็น หากเราทำชั่วแม้ในที่ไกลที่ลับอย่างไร เขาคงติเตียนได้ ดังนี้แล้วไม่ทำชั่ว.

โอตตัปปะนี้ ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความกลัวอบายคือความเสื่อมกล่าวคือ ถ้าไม่กลัวความเสื่อมความพินาศฉิบหายแล้ว ก็เป็นอันว่าไม่มี

โอตตัปปะ ท่านกล่าวอุปมาไว้ว่า คนผู้รักชีวิต รู้อยู่ ย่อมเกรงกลัวไม่กล้าจับเหล็กที่ร้อน หรืออสรพิษ หรือสัตว์ร้ายฉันใด คนมีโอตตัปปะย่อมไม่กล้าแตะต้องความชั่ว อันเปรียบด้วยของร้อน หรืออสรพิษ หรือสัตว์ร้ายฉันนั้น.

หิริ และ โอตตัปปะ ทั้งสองนี้ ชื่อว่า เป็นโลกบาล คุ้มครองโลก

โดยอธิบายว่า ธรรมเหล่านี้ย่อมคุ้มครอง คือป้องกันรักษาโลกคือหมู่สัตว์อันได้แก่สัตว์ผู้ข้องอยู่ในโลกทุกจำพวก ให้ดำรงอยู่โดยสันติสุขตามวิสัยของสัตวโลก.

กฎแห่งกรรมมีอยู่ว่า กรรมดีเป็นเหตุแห่งสุข กรรมชั่วเป็นเหตุแห่งทุกข์ ผู้ทำกรรมอย่างใด ย่อมได้รับผลอย่างนั้น และผลนั้น บางอย่าง บางคราว กระทบกระเทือน ไปถึงผู้อื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่มาก ก็น้อย ถึงเช่นนั้น ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยินดีพอใจ ทำกรรมชั่วในที่เปิดเผยบ้าง ลี้ลับบ้าง ทั้ง ๆ ที่ไม่ชอบความทุกข์ แต่ก็จำต้องได้รับทุกข์ระทมขมขื่น ดังที่เห็น ๆ กันอยู่ การที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะผู้ทำกรรมชั่วนั้น ขาดหิริโอตตัปปะนี้เอง.

เมื่อขาดธรรมะสองข้อนี้แล้วจะทำชั่วอย่างใดก็ได้ ในบาลี กล่าวว่าสัตวโลกก็จะพึงสมสู่กันเหมือนสัตว์ดิรัจฉานโดยไม่มีการเคารพยำเกรงว่า ผู้นี้เป็นมารดา ป้า น้า พี่ น้อง ครูอาจารย์ เป็นต้น.

ใครเล่าจะห้ามปรามเขาได้ เมื่อสัตวโลกทำชั่วแล้ว ใครเล่าจะคุ้มครองโลกให้ตั้งอยู่ในสันติสุขได้ หลวงพ่อขลัง ๆ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผู้มีฤทธิ์อำนาจ แม้พระราชกำหนดกฎหมายก็คุ้มไม่อยู่.

แต่ถ้าสัตวโลกมีธรรมสองประการนี้ประจำใจกันแล้ว แม้ไม่มีหลวงพ่อขลัง ๆ จนกระทั่งกฎหมายก็ไม่ต้องมี ธรรมสองประการนี้ยังคุ้มอยู่ได้. เพราะผู้มีหิริโอต-ตัปปะประจำใจ ย่อมรังเกียจเกลียดกลัวต่อความชั่ว ไม่กล้าทำชั่วทุกอย่างทั้งในที่ลับและที่แจ้ง รู้จักเหนี่ยวรั้งยับยั้งปราบปรามจิตใจไม่ให้ประพฤติชั่ว เมื่อต่างไม่ประพฤติชั่ว ความเบียดเบียนกันและกัน ก็จะไม่มี คนทั้งหลายก็จะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีทุกข์เดือดร้อน ต่างตั้งหน้าทำมาหากินด้วยความสุจริต โลกก็ปราศจากความวุ่นวาย ได้ประสบสันติสุข

คุ้มครองโลก ให้อยู่กันด้วยความรัก สามัคคี ไม่มีความอาฆาตพยาบาท ปองร้ายกันและกัน ทำให้การเป็นอยู่ร่วมกัน มีความสงบสุขร่มเย็น ธรรมเป็นโลกบาล (ธรรมคุ้มครองโลก) มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ โลกปาลธมฺโม ” โลกตั้งอยู่ได้ เพราะมีธรรมเป็นผู้คุ้มครอง คือ หิริ โอตตัปปะ เป็นผู้คุ้มครอง คำว่า โลก นั้น หมายเอาหมู่สัตว์ที่อาศัยแผ่นดินทั้งหมด ไม่ได้หมายเอาทวีปหลาย ๆ ทวีปมารวมกัน

      หิริ แปลว่า ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ แปลว่า ความเกรงกลัว ซึ่งต่างกัน หิริ ได้แก่ ความละอายแก่ใจ ตะขิดตะขวงใจต่อความชั่วของตนเอง ในการที่จะประพฤติทุจริต
     โอตตัปปะ ได้แก่ความหวั่นกลัวความไม่กล้าทำผิดเพราะคำนึงถึงผลแห่งบาปด้วยตนเอง คือ เกิดความคิดกลัวขึ้น ในสันดาน ของตนเอง.


ถ้าคนเราไม่มีหิริ และ โอตตัปปะแล้ว ต่างคนต่างก็จะเบียดเบียนกันและกัน ไม่วางใจกัน ในที่ทุกสถาน จะอยู่กันอย่างไม่เป็นสุข.
หิริ โอตตัปปะ จึงมีคุณหลายสถาน ให้มีความเกลียดชังต่อบาปทุจริตสะดุ้งกลัวต่อผลอกุศลกรรม ไม่กล้าทำความชั่ว ได้รับความสุขสำราญทั่วกัน ให้เว้นทุจริต ประกอบสุจริต มีเมตตาอารีต่อกัน ควบคุมกันอยู่โดยเป็นหมวดหมู่ ต่างวางใจในชีวิตและทรัพย์ของกันและกัน

มีลักษณะ และอุปมาต่างกัน ดังนี้
- หิริ มีลักษณะ สยะแสยงต่อการทำบาป อุปมาเหมือน บุคคลผู้รักสวยรักงาม เกลียดชังสิ่งโสโครก ฉะนั้น- โอตตัปปะ มีลักษณะ สะดุ้งกลัวต่อการทำบาป อุปมาเหมือน บุคคลผู้ซึ่งหวาดกลัวต่ออสรพิษ แม้ตัวเล็กก็ไม่กล้าเข้าใกล้
ส่วนธรรมที่ทำลายโลก คือ อหิริกะ ความไม่มีหิริ ความไม่ละอาย
อโนตตัปปะ ความไม่มีโอตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อบาป
ธรรม ๒ ประการนี้ มีประจำใจย่อมประพฤติสุจริตทั้งต่อหน้าและลับหลัง เมื่อมนุษย์ทำแต่ความดี ย่อมมีแต่ความเจริญ ความเสื่อมไม่มี เมื่อมนุษย์เจริญ พิภพก็เจริญขึ้นตาม ท่านจึงเรียกธรรม ๒ ประการ นี้ว่า เป็นเครื่องอภิบาล คือ คุ้มครองโลก ทั้งภายนอก (พิภพซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย) และภายใน (หมู่สัตว์)
ธรรมทั้ง หิริ โอตตัปปะ เป็นโลกบาล คุ้มครองโลก คือ ป้องกันหมู่สัตว์ให้ดำรงอยู่โดยสันติสุขตามวิสัยของสัตว์โลก
ที่เรียกว่า สุกกธรรม เพราะเป็นธรรมฝ่ายกุศลอันเปรียบด้วยสีขาวและเป็นไปเพื่อความผ่องแผ้วแห่งจิต
ที่เรียกว่า เทวธรรม เพราะเป็นธรรมทำบุคคลให้เป็นเทวดาหรือให้เป็นผู้รุ่งเรืองธรรม คือหิริ และโอตตัปปะ เป็นเครื่องปกครองคนและรักษาน้ำใจคน เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งห้ามปรามไม่ให้กล้าทำความชั่วลงได้ แม้มีโอกาสที่จะกระทำ เมื่อเข้าใจว่าการที่จะทำ เป็นความชั่วแล้ว ก็รู้สึกละอาย หวาดหวั่นใจไม่อาจทำลง เพราะถือหิริ โอตตัปปะเป็นใหญ่ โลกจึงมีความสุข และตั้งอยู่ยั่งยืนสืบมา

1 ความคิดเห็น: