วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทุกะ หมวด ๒

บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง

บุพพการี คือ บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน
กตัญญูกตเวที คือ บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และตอบแทน 

อธิบายบุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง
 บุพพการีและกตัญญูกตเวทีบุคคลทั้ง ๒ พวกนี้ ชื่อว่า บุคคลหาได้ยากเพราะบุคคลผู้มีหน้าที่ทำอุปการะก่อน ได้ทำกิจตามหน้าที่ ได้ทำอุปการะก่อน ชื่อว่าบุคคลหาได้ยาก ส่วนบุคคลผู้ได้รับอุปการะจากผู้อื่นจนได้มีความสุขสบายแล้ว มีความสำนึกถึงบุญคุณของท่านผู้ให้อุปการะแล้วตอบแทน ให้สมควรแก่กันนั้น หาได้ยาก
     ๑. บุพพการี แปลว่า บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน ได้แก่บุคคลผู้มีอัธยาศัยเผื่อแผ่ ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรมประจำอยู่ในใจ ไม่คิดอยากได้แต่ฝ่ายเดียว ตั้งใจทำอุปการคุณ จะมากหรือน้อยก็ตาม โดยไม่หวังตอบแทนแต่อย่างใด บุพพการีโดยทั่วไปท่านกำหนดว่ามี ๔ ประเภทคือ
     ๑. มารดาบิดา
     ๒. ครู อาจารย์ อุปัชฌาย์
     ๓. พระมหากษัตริย์
     ๔. พระพุทธเจ้า
     กตัญญู แปลว่า ผู้รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นทำแล้วแก่ตน กตเวที แปลว่า ผู้ประกาศคุณนั้นให้ปรากฏ รวมเป็น กตัญญูกตเวที แปลว่า ผู้รู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้วและตอบแทน.หมายความว่า ผู้ระลึกถึงอยู่เนือง ๆ ซึ่งอุปการคุณ ที่ท่านบุพพการีนั้น ๆ ได้กระทำให้แก่ตน และเมื่อได้โอกาสก็ตอบแทนคุณตามควรแก่ฐานะภาวะและกาลสมัย เหมือน บุตรธิดาเป็นลูกหนี้มารดาบิดา นักเรียนศิษย์เป็นลูกหนี้ครูอาจารย์
     กตัญญูกตเวทิตาธรรมนี้ ในที่บางแห่งเรียกว่า "สัปปุริสภูมิ"   คือเป็นภูมิธรรมของสัตบุรุษคือคนดี, อันคนดีนั้นจะประกอบกรณีย์ใด ๆ ย่อมอาศัยธรรมข้อนี้เป็นหลักเสมอ ท่านเปรียบไว้ว่า "พื้นแผ่นดินเป็นที่รับรอง เป็นที่อาศัยของสัตว์และพฤกษาลดาชาติ ฉันใด กตัญญูกตเวทิตาธรรม ก็เป็นพื้นฐานแห่งจิตของสัตบุรุษ ฉันนั้น
อธิบายศัพท์
บุพพการี แปลว่า บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน ได้แก่บุคคลผู้มีอัธยาศัยเผื่อแผ่ ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรมประจำอยู่ในใจ ไม่คิดอยากได้แต่ฝ่ายเดียว ตั้งใจทำอุปการคุณ จะมากหรือน้อยก็ตาม โดยไม่หวังตอบแทนแต่อย่างใด และไม่เกี่ยวกับบุคคลผู้ซื้อขาย ซึ่งจะต้องมีสิ่งของแลกเปลี่ยนกัน. บุพพการีโดยทั่วไปท่านกำหนดว่ามี ๔ ประเภทคือ
. มารดาบิดา   ๒. ครูอาจารย์ อุปัชฌาย์ ๓. พระมหากษัตริย์ . พระพุทธเจ้า.
    
    มารดาบิดา ได้ชื่อว่าเป็นบุพพการีของบุตรธิดา เพราะเป็นผู้ให้กำเนิด ให้เลือดเนื้อชีวิตจิตใจ ตลอดถึงให้อาหาร เครื่องนุ่งห่มเป็นต้นแก่บุตรธิดา และมีหน้าที่ที่จะต้องบำรุงบุตรธิดาให้เป็นสุขตามหลัก ๕ประการ คือ ๑. ห้ามมิให้ทำความชั่ว ๒. สอนให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๔. หาคู่ครองที่สมควรให้ ๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในสมัย.

ครู อาจารย์ อุปัชฌาย์ ได้ชื่อว่าเป็นบุพพการีของนักเรียนศิษยานุศิษย์ เพราะเป็นผู้มีหน้าที่แนะนำสั่งสอนอบรมให้มีความรู้ความสามารถ จนกระทั่งตั้งตนเป็นพลเมืองดี ซึ่งมีหลักที่จะต้องปฏิบัติ ๕ ประการ คือ ๑. แนะนำดี ๒. ให้เรียนดี ๓. บอกศิลปให้สิ้นเชิงไม่ปิดบังอำพราง ๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย (คือจะไปทิศไหนก็ไม่ให้อดอยาก) หน้าที่ทั้ง ๕ ประการนี้ ครูอาจารย์หรืออุปัชฌาย์ ต้องปฏิบัติให้บริบูรณ์ ถ้าขาดไปแม้เพียงบางข้อบางประการ ก็ชื่อว่าบกพร่องในหน้าที่ของบุพพการี.

พระมหากษัตริย์ ได้ชื่อว่าทรงเป็นบุพพการีของประชาราษฎร์เพราะทรงมีหน้าที่ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ผู้อาศัยอยู่ในประเทศให้มีความร่มเย็นเป็นสุข โดยที่พระองค์ต้องทรงปฏิบัติทศพิธราชธรรม คือธรรมสำหรับพระราชา ๑๐ ประการ คือ ๑. ทาน ๒. ศีล ๓. บริจาค ๔. ความซื่อตรง ๕. ความอ่อนโยน ๖. คอยกำจัดคนชั่ว ๗. ความไม่โกรธ ๘. การไม่เบียดเบียน ๙. ความอดทน ๑๐. ความไม่ผิดในทุกกรณีย์.

พระพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าทรงเป็นบุพพการีของพุทธบริษัท เพราะทรงมีพระมหากรุณาอันกว้างขวางโดยไม่มีขอบเขต ทรงประทานพระ-ธรรมเทศนาสั่งสอนเวไนยชน ด้วยหลัก ๓ ประการ คือ ๑. ทรงห้ามมิให้ทำบาปทั้งปวง ๒. ทรงสอนให้ทำบุญกุศลทุกอย่าง ๓. ทรงสอนให้ทำจิตให้ผ่องใส.

กตัญญู แปลว่า ผู้รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นทำแล้วแก่ตน, กตเวทีแปลว่า ผู้ประกาศคุณนั้นให้ปรากฏ ได้แก่ผู้ตอบแทนคุณ. รวมเป็นกตัญญูกตเวที แปลว่า ผู้รู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้วและตอบแทน.หมายความว่า ผู้ระลึกถึงอยู่เนือง ๆ ซึ่งอุปการคุณ ที่ท่านบุพพการีนั้น ๆได้กระทำให้แก่ตน และเมื่อได้โอกาสก็ตอบแทนคุณตามควรแก่ฐานะภาวะและกาลสมัย เหมือนบุคคลที่กู้หนี้ท่านมา ครั้นได้เวลาก็ชำระหนี้ให้ท่าน คนเราทุกคนที่เกิดมาย่อมชื่อว่าเป็นลูกหนี้ เช่นบุตรธิดาเป็นลูกหนี้มารดาบิดา, นักเรียนศิษย์เป็นลูกหนี้ครูอาจารย์, ประชาราษฎร์เป็นลูกหนี้พระมหากษัตริย์, นักเรียนศิษย์เป็นลูกหนี้พระพุทธเจ้า.
     เมื่เป็นลูกหนี้โดยที่เป็นหนี้บุญคุณท่านอยู่เช่นนี้ จึงสมควรที่จะต้องตอบแทนคุณท่าน จึงจะชื่อว่าเป็นการเปลื้องหนี้ได้ ผู้ที่เปลื้องหนี้ด้วยการตอบแทนคุณท่านได้แล้ว จึงชื่อว่า กตัญญูกตเวที โดยทั่วไปท่านกำหนดว่ามี ๔ประเภท คือ ๑. บุตรธิดา ๒. นักเรียนศิษยานุศิษย์ ๓. ประชาราษฏร์๔. พุทธบริษัท.

    บุตรธิดา เมื่อระลึกถึงคุณมารดาบิดาแล้ว จึงบำรุงเลี้ยงดูและถนอมน้ำใจท่านมิให้เดือดร้อน ซึ่งมีหลักแห่งการบำรุง ๕ ประการ คือ ๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เราต้องเลี้ยงท่านตอบ ๒. ช่วยทำกิจของท่าน ๓. ดำรงวงศ์สกุลไม่ให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ๔. ประพฤติตนให้เป็นคนสมควรรับมรดก ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน.
นักเรียนศิษยานุศิษย์ เมื่อระลึกถึงคุณของครูอาจารย์แล้ว จึงควรตอบแทนคุณของท่านตามหลัก ๕ ประการ คือ ๑. แสดงความเคารพนอบน้อมด้วยการลุกขึ้นยืนรับ ๒. คอยรับใช้ไม่ดูดายในเมื่อท่านมีธุรกิจ ๓. เชื่อฟังคำสั่งสอนไม่ดื้อด้าน ๔. อุปฐากบำรุงท่านด้วยการอำนวยความสุขสบายตามสมควร ๕. ตั้งใจเล่าเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ.
ประชาราษฏร์ เมื่อระลึกถึงพระคุณของพระมหากษัตริย์แล้ว จึงควรตอบแทนพระองค์ท่านด้วยการตั้งใจประพฤติตนเป็นพลเมืองดี ไม่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติที่ทรงแต่งตั้งไว้ และมีความจงรักภักดีเคารพบูชาด้วยการปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทที่พระราชทานซึ่งมีประการต่าง ๆ.
พุทธบริษัท เมื่อระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงควรตอบแทนด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม กล่าวคือตั้งใจบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการงดเว้นจากข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงพระอนุญาตทุกประการ.
เมื่อบุคคลมาระลึกถึงหนี้บุญคุณแล้ว ได้เปลื้องหนี้ด้วยการประพฤติปฏิบัติชอบตอบแทนคุณโดยควรแก่ฐานะ และถูกต้องตามประเภทดังกล่าวมา จึงได้ชื่อว่า "กตัญญูกตเวที" โดยสมบูรณ์ ผู้เช่นนี้ย่อมเป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไป เพราะรู้จักคุณความดีที่ผู้อื่นทำไว้แก่ตน แล้วตอบแทนตามสมควร และผู้เช่นนี้ย่อมมีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไม่เสื่อมเลย

พึงดูตัวอย่าง สุวรรณสามโพธิสัตว์ยอดกตัญญู ตั้งใจเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้ตาบอด แม้ถูกกบิลยักษ์ยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษสลบไปแล้ว แต่กลับฟื้นคืนชีพมาได้ ด้วยเดชแห่งความกตัญญูกตเวทีแท้ ๆ. อนึ่ง อุปติสส-ปริพาชก ได้ฟังคำสอนจากพระอัสสชิเถระเพียงนิดหน่อย ตั้งใจปฏิบัติตามก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ได้เป็นพระอริยบุคคลทางพระพุทธศาสนาต่อมาได้บวชเป็นภิกษุแล้ว ปฏิบัติตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนจนได้บรรลุถึงพระอรหัตตผล นับว่าเจริญถึงขั้นสูงสุด นี้ก็เป็นผลของกตัญญูกตเวทีเหมือนกัน และเมื่อท่านทราบว่าพระอัสสชิเถระผู้อาจารย์อยู่ทิศใด ก็กราบไหว้แล้วนอนผันศีรษะไปทางทิศนั้นเสมอ ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยความกตัญญูกตเวทีนั่นเอง.

กตัญญูกตเวทิตา ความเป็นผู้รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้วและตอบแทน เป็นเครื่องหมายของคนดี. คนในโลกนี้มี ๒ จำพวก คือสาธุชน คนดี ๑ อสาธุชน คนไม่ดี ๑ ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่อง หมายของคนดี ส่วนคนที่ขาดคุณธรรมข้อนี้ ก็แสดงว่าเป็นคนไม่ดี,เป็นคนอกตัญญู ใคร ๆ ไม่ควรคบ. โบราณท่านสอนกันมาว่า " แม้แผ่นดินจะไร้หญ้า ก็อย่าคบค้าคนอกตัญญู " มีพระพุทธภาษิตว่า" ถึงจะให้แผ่นดินทั้งหมด (คือยกให้เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในแผ่นดินทั้งโลก) ก็ไม่อาจที่จะให้คนอกตัญญูยินดี มีความรู้สึกบุญคุณได้ "ทั้งนี้ก็เพราะคนอกตัญญูนั้นไม่รู้บุญคุณของใคร ๆ แม้จะให้ทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่ในแผ่นดินทั้งหมด เขาก็ยังไม่รู้จักบุญคุณ คอยแต่จะประทุษร้ายผู้มีบุญคุณแก่ตนเสียอีก " ในคราวตกทุกข์ยากก็เข้าหา ครั้นสมปรารถนาแล้วเบือนหนี บางทีก็ทำลาย " เลี้ยงคนอกตัญญูก็เหมือนเลี้ยงอสรพิษ เหมือนชาวนาช่วยเหลืองูเห่าฉะนั้น เพราะเหตุนี้ ท่านจึงห้ามมิให้คบคนอกตัญญู. ไม้ผุ ๆ ที่ลอยน้ำมา ท่านสอนว่าให้เก็บขึ้นไว้ทำประโยชน์ได้ ส่วนคนอกตัญญูปล่อยให้น้ำพัดพาไปเสียเถิด อย่าเก็บไว้เลย.
กตัญญูกตเวทิตาธรรมนี้ ในที่บางแห่งเรียกว่า " สัปปุริสภูมิ " คือเป็นภูมิธรรมของสัตบุรุษคือคนดี, อันคนดีนั้นจะประกอบกรณีย์ใด ๆย่อมอาศัยธรรมข้อนี้เป็นหลักเสมอ ท่านเปรียบไว้ว่า "พื้นแผ่นดินเป็นที่รับรอง เป็นที่อาศัยของสัตว์และพฤกษาลดาชาต ฉันใด กตัญญูกต-เวทิตาธรรม ก็เป็นพื้นฐานแห่งจิตของสัตบุรุษ ฉันนั้น. "

อธิบายชื่อหมวดธรรม
บุพพการีและกตัญญูกตเวที บุคคลทั้ง ๒ พวกนี้ ชื่อว่า " บุคคลหาได้ยาก " เพราะการที่บุคคลผู้มีหน้าที่ทำอุปการะก่อน ได้ทำกิจตามหน้าที่ก็ดี แม้ไม่มีหน้าที่ทำอุปการะก่อน แต่ก็ได้ทำอุปการะก่อนก็ดีชื่อว่าบุคคลหาได้ยาก เพราะคนโดยมากมีน้ำใจตระหนถี่เหนี่ยว คิดแต่จะได้ฝ่ายเดียว ไม่ยอมเสียสละ ไม่คิดทำอุปการะแก่ผู้อื่น. ส่วนบุคคลผู้ได้รับอุปการะจากผู้อื่นจนได้มีความสุขสบายแล้ว มีความสำนึกถึงบุญคุณของท่านผู้ให้อุปการะแล้วตอบแทน ให้สมควรแก่กันนั้น หาได้ยาก เพราะคนโดยมามักลืมตัว บางคนก็เพียงแต่นึกถึงบุญคุณได้ แต่ไม่ยอมตอบแทน เหมือนคนกู้หนี้ทั้ง ๆ ที่รู้ดีอยู่ว่าเป็นหนี้เขา แต่ไม่ยอมใช้หนี้คอยหลบหน้าเจ้าหนี้อยู่เสมอไป คนที่ตั้งใจชำระหนี้บุญคุณจึงหาได้ยาก.
จึงเป็นอันว่าบุพพการีและกตัญญูกตเวทีบุคคล ทั้ง ๒ พวกนี้จะได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อกันให้สมบูรณ์ควบคู่กันไปนั้น หาได้ยาก เพราะเป็นการปฏิบัติที่ทวนกระแสกิเลสของสัตวโลก ซึ่งมีความโลภ ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ไม่อยากแผ่เผื่อเจือจานแก่ผู้อื่น ฉะนั้น การสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยความเมตตากรุณาก็ดี การรู้จักคุณแล้วตอบแทนด้วยหวังบูชาคุณก็ดีจึงเป็นการยาก ดังนี้แล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น